วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การ์ตูน หมายถึง


การ์ตูนประกอบการเรียนรู้


                      การ์ตูน  คือ  สื่อการเรียนรู้อีกชนิดหนึ่งที่เด็ก ๆ ชื่นชอบเป็นอย่างมาก  เนื่องจากความน่ารักสีสันสวยงาม  และเรื่องราวที่ชวนติดตามทำให้การ์ตูนเป็นสื่อที่ครองใจเด็ก ๆ ทุกยุคทุกสมัย  และการ์ตูนในยุคปัจจุบันยังพัฒนาจากการ์ตูนภาพนิ่ง  เป็นการ์ตูนที่มีภาพเคลื่อนไหว 
                      การใช้การ์ตูนเพื่อเป็นสื่อการจัดการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องน่าสนใจในการนำมาพัฒนาสื่อประกอบการเรียนรู้ในบทเรียนต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของเนื้อหา และระดับชั้นของผู้เรียน

ความหมายของการ์ตูน
                      การ์ตูน  หมายถึง  ลายเส้นภาพวาดคน  สัตว์  สิ่งของในรูปแบบที่เหมือนหรือมีเค้าโครงที่ใกล้เคียงกับของจริงหรือต่างจากของจริงตามจินตนาการของผู้วาดการ์ตูน  เช่น  การ์ตูนภาพคน  การ์ตูนภาพสัตว์  หรือภาพสิ่งของที่มีหู  มีตา  มีปาก  เป็นต้น



ตัวการ์ตูนชื่อน้องคูณ
ตัวอย่างการ์ตูนที่ผู้เรียบเรียงบทความเขียนขึ้น  เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการเขียนการ์ตูนเลียนแบบคนด้วยการเลือกวาดแบบสัดส่วนรูปร่างต่างจากคนตัวจริง ๆ

                     

ผู้เรียงเรียงบทความ
กฤษดา  บุญหมื่น
วันที่เขียน
05/07/2555

รายละเอียดการเขียนแผนการเรียนรู้


รายละเอียดการเขียนแผนการเรียนรู้

                      การเขียนการเรียนรู้โดยร่วมส่วนใหญ่มักจะประกอบไปด้วยหัวข้อส่วนต่าง ๆ เพื่ออธิบายองค์ประกอบด้วยร่วมของแผนและสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

1. ชื่อแผนการจัดการเรียนรู้ 
               ชื่อแผนการจัดการเรียนรู้  มีความจำเป็นสำหรับอธิบายหัวข้อของแผนการจัดการเรียนรู้แต่ละเนื้อหา  ชื่อแผนที่เหมาะสมควรตั้งให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่ต้องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในแผนนั้น ๆ 

2.  ระดับผู้เรียน
                ระดับชั้นของผู้เรียน  มีความจำเป็นสำหรับพิจารณาขีดความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียน  เนื่องจากผู้เรียนแต่ละระดับมีความสามารถในการรับรู้ต่างกัน  เช่น ผู้เรียนที่อายุน้อยระดับขีดความสามารถในการรับรู้ย่อมน้อยกว่าผู้เรียนที่โตกว่าการกำหนดเนื้อหาควรให้เหมาะสมเพื่อสร้างความรู้ระดับที่จำเป็นต่อผู้เรียน และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับระดับของผู้เรียน  ตลอดจนถึงเป็นตัวกำหนดให้ผู้ที่นำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้ได้พิจารณาความเหมาะสมของแผนในการนำไปปฏิบัติการสอนให้มีปะสิทธิภาพ
 
3. ระยะเวลาในการจัดการเรียนรู้
                ระยะเวลาในการจัดการเรียนรู้  มีความจำเป็นในการพิจารณาเนื้อหาสำหรับใช้จัดการเรียนรู้ในแผนนั้น ๆ ซึ่งบางเนื้อหาที่มีความยากและมีเนื้อหาที่เยอะ การกำหนดชั่วโมงในการจัดการเรียนรู้จึงควรปรับให้เหมาะสมกับเนื้อหา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าใจเนื้อหานั้น ๆ ได้อย่างครบถ้วน

4. สาระเรียนรู้
                สาระการเรียนรู้  คือส่วนสำคัญสำหรับจัดการเรียนรู้ในแต่ละแผนที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียน  การกำหนดสาระการเรียนรู้จึงควรแบ่งตามความเหมาะสมของแผนในแต่ละแผน เพื่อพิจารณาเนื้อหาตามลำดับ และจัดเรียงสาระการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอนว่าควรเรียนรู้เรื่องใดก่อนหรือหลัง

5. กิจกรรมการเรียนรู้
                กิจกรรมการเรียนรู้  ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ ตามแผนที่กำหนดเพื่ออธิบายการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ตลอดจนถึงการอธิบายรายละเอียดของการใช้สื่อประกอบ หรือการใช้วิธีการจัดกิจกรรมตามทฤษฎีต่าง ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน  โดยการเขียนอธิบายขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย  มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมอย่างละเอียดชัดเจน

6. อุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้
                อุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้  เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการจัดการเรียนรู้ให้เป็นไปตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่กำหนด  การกำหนดอุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้ในแต่ละแผนควรกำหนดให้ชัดเจน และครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในกิจกรรมการเรียนรู้ว่าต้องใช้อะไรบ้าง

7. ภาระงานและชิ้นงาน
                ภาระงานและชิ้นงาน  คือ  ผลที่เกิดจากการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในแผน  เพื่อแสดงถึงผลของการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนในเชิงรูปธรรม และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาระดับความรู้ความเข้าใจในการเรียนรู้เนื้อหานั้น ๆ
 
8. การวัดและประเมินผล
                การวัดและประเมินผล คือ หัวใจสำหรับในการวัดประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้  ว่าแผนที่สร้างขึ้นสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่  ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่กำหนดไว้ในแต่ละแผนหรือไม่  และเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

9. เครื่องมือวัดและประเมินผล
                เครื่องมือวัดและประเมินผล คือ  สิ่งที่กำหนดไว้ในการวัดและประเมินผล  ว่าในแผนนั้น ๆ ต้องการวัดการเรียนรู้ในด้านใดบ้างตามที่ได้กำหนดไว้  และนำผลที่ได้จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มาบันทึกลงเครื่องมือ เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อไป
 
10. บันทึกการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
                บันทึกการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  เป็นส่วนที่จำเป็นสำหรับนำข้อมูลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละครั้งไปพัฒนา  การบันทึกช่วยให้ผู้ใช้แผนทราบข้อบกพร่อง  อุปสรรคในการจัดการเรียนรู้มีอะไรบ้าง  เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาที่พบระหว่างจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป

ผู้เรียงเรียงบทความ
กฤษดา  บุญหมื่น
วันที่เขียน
05/07/2555

การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้


การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้
การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้สามารถกำหนดการเขียนได้หลากหลายรูปแบบ  ซึ่งควรยึดหลักการเขียนและองค์ประกอบของแผนตามหน่วยงานของตนที่กำหนดไว้  แต่ในที่นี้ผู้เขียนเสนอการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ตามความเข้าใจโดยมีขอบข่าย ดังนี้
1. ชื่อแผนการจัดการเรียนรู้
2.  ระดับผู้เรียน
3. ระยะเวลาในการจัดการเรียนรู้
4. สาระเรียนรู้
5. กิจกรรมการเรียนรู้
6. อุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้
7. ภาระงานและชิ้นงาน
8. การวัดและประเมินผล
9. เครื่องมือวัดและประเมินผล
10. บันทึกการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

ผู้เขียนบทความ
พยัคฆ์กูรู
วันที่เขียน
04/07/2555

แนวคิดเกี่ยวกับการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้


แนวคิดเกี่ยวกับการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้

การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ควรพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ อย่างเป็นระบบเพื่อ ประสิทธิภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ซึ่งผู้เขียนของนำเสนอแนวคิด ดังนี้
1. ศึกษารายละเอียดของเนื้อหา  ในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม ผู้จัดทำควรศึกษารายละเอียดของเนื้อหาที่ต้องการจัดการเรียนรู้จากเอกสาร และตำราจากหลาย ๆ แหล่งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมในการจัดการเรียนรู้
2. ศึกษาของเขตของเนื้อหา  ในการกำหนดเนื้อหาสำหรับจัดการเรียนรู้ต้องคำนึงถึงระดับความสามารถในการรับรู้ของผู้เรียน  ควรกำหนดเนื้อหาที่ต้องการถ่ายทอดสำหรับผู้เรียนแต่ละดับอย่างเหมาะสมไม่ง่ายเกินไปหรือยากเกินไป  เนื้อหาบางอย่างอาจมีรายละเอียดที่ผู้เรียนรู้ก็ได้ไม่รู้ก็ได้  เนื้อหาเหล่านั้นควรพิจารณาด้วยว่าควรตัดออกหรืออาจเพิ่มเติมให้ภายหลัง  เพื่อให้การกำหนดขอบเขตของเนื้อหามีความชัดเจนมากขึ้น และเหมาะสมกับระดับการรับรู้ของผู้เรียน
3.  กำหนดขอบเขตของเนื้อหา ในการกำหนดขอบเขตของเนื้อหาควรพิจารณาการลำดับเนื้อหาจากง่ายไปสู่เนื้อหาที่ยาก และแบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ
4.  กำหนดสื่อประกอบการอธิบายเนื้อหา  ในการกำหนดสื่อประกอบการอธิบายเนื้อหา  สื่อแต่ละแบบมีความเหมาะสมแตกต่างกัน  สื่อบางอย่างอาจใช้จากวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย  สื่อบางอย่างอาจต้องจัดซื้อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้  หรือตัวอย่างประกอบการอธิบายเนื้อหาที่หาได้ง่าย  เช่น  จัดการเรียนรู้เรื่องใบใม้  ต้นไม้  ควรนำใบไม้หรือต้นไม้จริงมาประกอบเพื่อให้การจัดการเรียนรู้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
5. กำหนดขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละครั้ง ควรมีการกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจนเหมาะสำหรับสภาพผู้เรียนและสภาพแวดล้อมในการจัดกิจกรรม เนื่องจากเนื้อหาบางอย่างที่สามารถจัดการเรียนรู้ในสภาพจริงได้  ควรมีการกำหนดสถานที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดกิจกรรม  ตลอดจนขั้นตอนการจัดกิจกรรมควรอธิบายการใช้สื่อหรืออุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้ หรือนำเสนอเนื้อหาที่ต้องการสอนอย่างละเอียดด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย
6. กำหนดการวัดผลและประเมินผลให้ชัดเจน  สิ่งที่สำคญที่สุดในการจัดการเรียนรู้อีกข้อหนึ่งคือ การวัดลและประเมินผล  เพราะข้อมูลในการวัดผลประเมินผลคือ  ข้อมูลสำหรับวัดความรู้ความเข้าใจของผู้เรียน และวัดประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้  เมื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทุกครั้งจึงควรมีการวัดและประเมินผลทุกครั้ง ซึ่งการวัดผลนั้นควรวัดในสิ่งที่สามารถสังเกตเหตุได้ชัดเจน และเป็นรูปธรรมมากที่สุด  เนื่องจากการวัดผลบางอย่างมีความยากในการวัด เช่น  การวัดด้านเจตคติ  ดงนั้นผู้สอนจึงควรสร้างเครื่องมือให้ออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้


ผู้เขียนบทความ
กฤษดา  บุญหมื่น
วันที่เขียน
04/07/2555

ประโยชน์ของแผนการจัดการเรียนรู้


ประโยชน์ของแผนการจัดการเรียนรู้

1. เป็นคู่มือในการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามที่กำหนด          
2. เป็นคู่มือจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
3. เป็นคู่มืออธิบายรายละเอียดแนวคิดและขั้นตอนการวัดผลประเมินผลการจัดการเรียนรู้
4. เป็นเครื่องชี้วัดประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ และข้อบกพร่องในการจัดการเรียนรู้
5. เป็นหลักฐานในการปฏิบัติการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบมีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ



ผู้เขียนบทความ
กฤษดา  บุญหมื่น
วันที่เขียน
04/07/2555